วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เกี่ยวกับผู้เขียน "โมงยามที่งามที่สุด"



พ่อ แม่ ลูก ที่บ้าน "เสกสรรค์-จิระนันท์" ซอยสายลม ๒๕๓๐
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล: ถ่ายภาพ




สุชาติ  สวัสดิ์ศรี

                เกิดเมื่อปี พ.. ๒๔๘๘ ที่ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าเรือ พระนครศรีอยุธยา บิดาเป็นหมอเสนารักษ์ มารดาเป็นชาวนา เติบโตแถบชานนครหลวงฯ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นครูโรงเรียนราษฎร์อยู่ช่วงสั้นๆ ก่อนเริ่มงานบรรณาธิการเมื่อ พ.. ๒๕๑๐ เป็นบรรณาธิการ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ (๒๕๑๒) ของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ต่อจาก สุลักษณ์ ศิวรักษ์ บรรณาธิการคนแรก ขณะนั้นอายุ ๒๔ ปี เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ชมรมพระจันทร์เสี้ยว“คณะละครสองแปด” และ กลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิต

                จากนั้นเข้าไปทำ จัตุรัส อยู่พักหนึ่ง หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ไม่ได้ เข้าป่าแต่หลบภัยการเมืองอยู่ตามบ้านมิตรสหายในกรุงเทพฯ เมื่อเหตุการณ์เริ่มคลี่คลาย จึงกลับมาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร โลกหนังสือ (๒๕๒๐) ของ สุข สูงสว่าง พร้อมกันก็เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มให้กับสำนักพิมพ์ดวงกมลไปด้วย

                พ.. ๒๕๒๖ โลกหนังสือ ปิดตัวลง ได้รับการชักชวนให้ไปเป็นบรรณาธิการ บานไม่รู้โรย (๒๕๒๘) ของค่ายมติชน แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน จากนั้นเป็นที่ปรึกษานิตยสาร ถนนหนังสือ แล้วจึงหันมาสานต่อหนังสือต่อเนื่องเรื่องสั้น ช่อการะเกด ยุคสอง “สโมสรถนนหนังสือและสำนักช่างวรรณกรรม” (๒๕๓๒-๒๕๔๒) ต่อจาก ยุคแรก “โลกหนังสือฉบับเรื่องสั้น” (๒๕๒๑-๒๕๒๓) โดยร่วมกับ เรืองเดช จันทรคีรี ในนาม สำนักช่างวรรณกรรมซึ่งถือได้ว่าเป็นการช่วยสนับสนุนนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ให้กับวงวรรณกรรมไทยนับไม่ถ้วน

                พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับรางวัลศรีบูรพา, พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับรางวัลปีติศิลป์  ผู้มีผลงานดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม จากสถาบันปรีดี พนมยงค์, พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับรางวัลเกียรติคุณ จากมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป, พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้รับรางวัลสุรินทราชา นักแปลดีเด่น, พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้รับรางวัล Bioscope Award ๒๕๕๐ “ผู้กำกับหน้าใหม่น่าจับตา” และพ.ศ. ๒๕๕๑ ได้รับรางวัลเกียรติคุณ ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จากกระทรวงวัฒนธรรม, พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ 

               ปัจจุบัน นอกจากกลับมาเป็นบรรณาธิการบริหาร ช่อการะเกด ยุคสาม “สำนักช่างวรรณกรรมและบริษัทพิมพ์บูรพา” (๒๕๕๐-๒๕๕๓) แล้ว ยังเป็นประธานที่ปรึกษาเครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย ประธานสำนักช่างวรรณกรรม และเป็นบรรณาธิการอิสระ ทำงานศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น เขียนรูป ถ่ายภาพ และทำหนังทดลอง จนมีงานแสดงภาพเขียน หนังทดลอง และภาพถ่ายอยู่อย่างต่อเนื่องหลายครั้ง

ผลงานเขียน: ความเงียบ (๒๕๑๕), คำประกาศของความรู้สึกใหม่ (๒๕๑๘), นักเขียนหนุ่ม (๒๕๑๘–เขียน/แปล), สิงห์สนามหลวง ชีวิตวรรณกรรม ๑-๒ (๒๕๒๙), จินตนาการสามบรรทัด (๒๕๓๑), ความเงียบในความเงียบ (๒๕๓๔), ความว่าง (๒๕๔๖) ดาวเรืองบินข้ามครรภ์ฟ้า (๒๕๔๗) ฯลฯ

ผลงานแปล: คนเหมือง (๒๕๒๖), นักเขียนหนุ่ม (๒๕๓๑), ความรื่นรมย์ครั้งสุดท้าย (๒๕๓๒) ฯลฯ

นามปากกา: สิงห์สนามหลวง, สีกัน บ้านทุ่ง, บุญ ประคองศิลป์, เอ็ม, เจ้าตัวร้าย

 

 


ศรีดาวเรือง

           

            เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ที่ตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม พิษณุโลก “ศรีดาวเรือง” เป็นนามปากกาของ วรรณา สวัสดิ์ศรี (นามสกุลเดิม “ทรรปนานนท์”) บิดาเป็นพนักงานสถานีรถไฟ มารดาเป็นแม่ค้าขายขนม  จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนบางกระทุ่มศึกษาลัย และไม่ได้เรียนต่อเพราะฐานะยากจน โดยภูมิหลังก่อนเริ่มต้นเขียนหนังสือเคยเป็นผู้ใช้แรงงานมาตั้งแต่อายุ ๑๒ ขวบ หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ได้รู้จักกับสุชาติ สวัสดิ์ศรี ส่งผลให้มีโอกาสได้ก้าวเข้าสู่โลกการอ่านและเขียนหนังสืออย่างจริงจัง

            พ.ศ. ๒๕๑๘ เรื่องสั้นเรื่องแรก “แก้วหยดเดียว” ได้รับการตีพิมพ์ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ติดตามมาด้วยบทกวีและบทความวิจารณ์วรรณกรรม  ต่อจากนั้นได้เขียนหนังสือต่อเนื่องมาตลอดจนถึงปัจจุบัน นอกเหนือจากงานเขียนประเภทเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยายแล้ว ก็ยังมีผลงานประเภทอื่นอยู่ด้วย เช่น งานแต่งเพลง, บทละคร, เรื่องแปลสำหรับเด็กและเรื่องสั้นง่ายๆ จากภาษาอังกฤษ, บทความเล่าเรื่องหนังสือเก่า, สารคดี และคอลัมน์ต่างๆ 

พ.ศ. ๒๕๒๑ เรื่องสั้น “คนดายหญ้า” ได้รับรางวัล ว.ณ ประมวญมารค ในฐานะเรื่องสั้นดีเด่นของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย, พ.ศ. ๒๕๒๑ เรื่องสั้น “มันมากับการเลือกตั้ง” ได้รับการประดับช่อการะเกดจากนิตยสารโลกหนังสือ, พ.ศ. ๒๕๒๒ เรื่องสั้น “ความเงียบที่เริ่มต้น” ได้รับการคัดเลือกเป็นเรื่องสั้นสร้างสรรค์ของกลุ่มวรรณกรรมพินิจ, พ.ศ. ๒๕๒๓ เรื่องสั้น “คนดายหญ้า” ได้รับคัดเลือกพิมพ์ในหนังสือ การอ่านงานประพันธ์เฉพาะเรื่อง ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, พ.ศ. ๒๕๒๙ เรื่องสั้น “งูเกี้ยว” ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย, ๒๕๓๒ รวมเรื่องสั้น แม่สาลู ได้รับรางวัลในการประกวดหนังสือของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ

รวมเรื่องสั้นได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เช่น A Drop of Glass and Other Stories (๑๙๔๔) The Citizen’s Path (๒๐๐๔) และ Married to the Demon King (๒๐๐๔) นอกจากนั้นเรื่องสั้นหลายเรื่องยังได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย เดนมาร์ก สวีเดน ฝรั่งเศส โปรตุเกส ฯลฯ

                ปัจจุบัน นอกจากทำสวนและปลูกต้นไม้แล้ว ยังคงสร้างสรรค์งานวรรณกรรมและงานเขียนประเภทอื่นออกมาอย่างเงียบๆ เรียบง่าย และต่อเนื่องอยู่ในบ้านสวนรังสิตอันร่มรื่น

                ผลงานเขียน: แก้วหยดเดียว (๒๕๒๖), บัตรประชาชน (๒๕๒๗), มัทรี (๒๕๓๐), เนินมะเฟือง (๒๕๓๐), เจ้ากาเหว่าเอย (๒๕๓๑), ภาพลวงตา (๒๕๓๒), เด็กบินได้ (๒๕๓๒), แม่สาลู (๒๕๓๖), ละครแห่งโลก (๒๕๓๖), วิถีชาวบ้าน (๒๕๓๘), ละครแห่งรัก (๒๕๓๙), ชาวยักษ์/ชมรมวันศุกร์ (๒๕๓๙), หมอก (๒๕๔๐), โลกชาวบ้าน (๒๕๔๓), บ้านเล็กในเมืองใหญ่ (๒๕๔๔), ไพร่สนทนา (๒๕๔๖), สี่แผ่นดินอื่น (๒๕๔๗), ราษฎรดำเนิน [The Citizen’s Path] (๒๕๔๗), บุหงา (๒๕๔๙), ซ่อนกลิ่น (๒๕๕๒), ร้อยเรื่องสั้นศรีดาวเรือง (กำลังจัดพิมพ์) ฯลฯ

ผลงานแปล: การผจญภัยของลุงป๋วย (๒๕๒๒), สมุดปกเขียว (๒๕๒๒), ดอนกีโฮเต้ ฉบับอนุบาล (๒๕๒๒), นิทานฮาวาย (๒๕๓๐), แม่ถ้อยน้ำคำ (๒๕๓๗), แม่ไม้ (๒๕๔๔), ลึกมั้ยนะ (๒๕๔๔) , ยุคสมัยไวกิ้ง (๒๕๔๔), ผืนดินออกลูกเป็นเสื้อ (๒๕๔๕), เด็กข้างทางรถไฟ (๒๕๔๗), ความลับในห้องหมายเลข ๓๔๒ (๒๕๔๗), นิทานฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซ่น (๒๕๔๘), นิทานของสองพี่น้องตระกูลกริมส์ (๒๕๔๘) ฯลฯ

นามปากกา: ศรีดาวเรือง, สายวนา, ว.ณ สองแคว, วรรณา ณ สองแคว, ดาริกา ปาริชาติ, สร้อยแสงแดง, ศรีแสนดาว

 

 

โมน  สวัสดิ์ศรี

 

               

            เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ที่ทุ่งสีกัน ดอนเมือง กรุงเทพฯ บุตรชายของสุชาติ สวัสดิ์ศรีและวรรณา สวัสดิ์ศรี (ศรีดาวเรือง) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง

            งานเขียนชิ้นแรกเป็นกลอนเปล่าที่บอกให้แม่จดตามคำบอกตั้งแต่ยังเขียนหนังสือไม่เป็น หลังจากนั้นก็เขียนนิทานและบันทึกเรื่อยมา จนถึงมัธยมปีที่ ๒ ก็หยุดไประยะหนึ่ง และเริ่มกลับมาเขียนอีกครั้งที่นิตยสาร ไรเตอร์ ยุคแรกซึ่งมี ขจรฤทธิ์ รักษา เป็นบรรณาธิการ

ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ มีผลงานรวมเล่มครั้งแรกชื่อ บันทึกของโมน  จากนั้นเขียนคอลัมน์ “โมนผจญโลก” ในนิตยสาร ไรเตอร์ ยุคหลังซึ่งมี กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เป็นบรรณาธิการ กระทั่งนิตยสารฉบับนี้ยุติลง ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เรื่องสั้นเรื่องแรก “รถไฟชั้นสาม” ตีพิมพ์ร่วมในรวมเรื่องสั้น สถานที่หนึ่งในหัวใจ

เริ่มงานด้านหนังสืออย่างจริงจังในช่วงต้นปี ๒๕๔๕ ด้วยการประจำกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์ และกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Bizbook ก่อนจะลาออกจากงานประจำมาเขียนหนังสือที่บ้านสวนรังสิตเมื่อปลายปี ๒๕๔๘

เคยเป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างๆ อาทิ ไรเตอร์, สานแสงอรุณ, GM Plus, Vote, Post Today  รวมถึงเขียนเรื่องสั้นและบทความตีพิมพ์ตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น มติชนสุดสัปดาห์, เนชั่นสุดสัปดาห์, กรุงเทพธุรกิจ จุดประกายวรรณกรรม, ผู้จัดการรายวัน ฯลฯ 

เรื่องสั้น “ส้วม” ได้รับรางวัลชมเชยประเภทเรื่องสั้น จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ประจำปี ๒๕๕๐

ปัจจุบัน ประจำกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน และเป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

ผลงานเขียน: บันทึกของโมน (๒๕๓๙), ชานชาลาที่สอง (๒๕๔๔), รอยเท้าในสวน (๒๕๕๒)






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น